Categories
focus on travel

ท่องเที่ยวและเรียนรู้วิถีชุมชนบ้านทะเลน้อย อ.แกลง จ.ระยอง

ชุมชนบ้านทะเลน้อย เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มากไปด้วยร่อยรอยทางประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของหมู่ที่ 6 ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศไทย สามารถเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวมายังถนนหมายเลข 344 บ้านบึง-แกลง (มุ่งหน้าสู่จังหวัดระยอง) จนถึงถนนหมายเลข 3 สุขุมวิท จากนั้นเลี้ยวขวา และเลี้ยวซ้ายที่แยกวัดสารนารถฯ แล้วมุ่งหน้าไปยังถนนสุนทรโวหารอีกเป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ก็จะถึงจุดหมาย (ชุมชนบ้านทะเลน้อย)

ชื่อเรียก “ชุมชนบ้านทะเลน้อย” มีที่มาเนื่องจากในอดีตช่วงฤดูฝนมักจะเกิดน้ำท่วมขังเป็นทุ่งภายในหมู่บ้าน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับทะเลขนาดย่อม ผู้คนในหมู่บ้านจึงเรียกกันว่า “ทะเลน้อย” สืบมาจนถึงปัจจุบัน มีการสันนิษฐานว่า หมู่บ้านดังกล่าวก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

เนื่องจากมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา นั่นคือ “วัดราชบัลลังก์” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วัดทะเลน้อย” ซึ่งมีอายุกว่า 300 ปี ในปัจจุบันได้มีการบูรณะซ่อมแซม นอกจากนี้ คนในชุมชนได้ร่วมกันกับภาครัฐในการสร้างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อเป็นการสักการะบูรชาอีกด้วย

ชุมชนบ้านทะเลน้อย ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) ครั้งที่ 11 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (Historical and Culture) โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันพัฒนาชุมชนจากการประสานงานกับหน่วยงานราชการ ชูเอกลักษณ์ประจำชุมชน จนกลายมาเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่ต้อนรับผู้คนที่มาเยี่ยมชมและศึกษาวิถีชีวิตของชาวบ้าน ภายในชุมชน 

เอกลักษณ์ประจำชุมชนบ้านทะเลน้อย นั่นคือ การสร้างวิถีชีวิตของคนในชุมชนให้กลายเป็นชุมชนต้นแบบ โดยการนำเอาทรัพยากรที่มีในชุมชนมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั่นคือ การรวมกันกลุ่มปลูก “ผักกระชับ” ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านที่ปลูกกันเฉพาะภายในชุมชนนี้เท่านั้น จะมีวิธีการปลูก โดยการนำเมล็ดไปแช่น้ำไว้นานถึง 3 เดือน จากนั้นจึงนำเมล็ดดังกล่าวไปปลูก ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะสามารถตัดและนำมาใช้ประกอบอาหารได้ โดยการประกอบอาหารที่นิยม ได้แก่ แกงส้มผักกระชับ ผักกระชับผัดน้ำมันหอย ผักกระชับสดจิ้มน้ำพริก ยำผักกระชับ เป็นต้น  

นอกจากนี้ ยังมี “กล้วยน้ำว้าสามน้ำ” ซึ่งเป็นการปลูกโดยใช้น้ำจากแหล่งที่แตกต่างกันไป 3 แหล่ง ได้แก่ น้ำจืด น้ำทะเล และน้ำกร่อย โดยน้ำจืดจะเกิดจากช่วงฤดูฝน น้ำทะเลในช่วงหน้าแล้ง และน้ำกร่อยที่เกิดจากการผสมกันของน้ำจืดและน้ำทะเล อีกทั้งพื้นดินที่มีแร่ธาตุที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก จึงทำให้รสชาติของกล้วยน้ำว้าสามน้ำดังกล่าวมีความหวานอร่อย และสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี

ติดตามสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจได้ที่ Focus on travel
เวปไซด์ focusontour.com